ช่วงที่ผ่านมาในเมืองไทยมีร้านอาหารทำนองกินตามใจเชฟเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะมาในรูปแบบโอมากาเสะ ไคเซกิ หรือ Chef’s Table ที่เชฟจะเป็นผู้คัดสรรเมนูแต่ละจานเพื่อเสิร์ฟให้กับลูกค้าด้วยตัวเอง อย่าง The Table by Chef Pam ของ เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม ก็ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจเชฟส่วนตัว ที่ให้บริการอาหารไฟน์ไดนิ่งแบบไพรเวต ด้วยการเปิดบ้านให้แขกเหรื่อเข้ามารับประทานอาหารภายในบ้านอย่างเป็นกันเอง เพราะจะเปิดรับเพียงวันละ 1 โต๊ะ จำนวน 6-16 ที่นั่งเท่านั้น ส่งผลให้คิว Chef’s Table ของที่นี่ต้องรอนานนับเดือน
ล่าสุดเชฟแพมได้สร้างสรรค์เมนูใหม่ให้กับคนชอบกินเนื้อ ด้วย Beef Omakase หรือโอมากาเสะเนื้อ 12 คอร์ส ที่มีเนื้อวัวสัญชาติต่างๆ เป็นพระเอก ซึ่งต่างจากซูชิโอมากาเสะที่เน้นไปที่ปลาดิบ หรือ Chef’s Table ที่โดยทั่วไปมักจะใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โอมากาเสะเนื้อของเชฟแพมจึงนับเป็นสวรรค์ของคนรักเนื้อ เพราะนี่คือโอกาสที่คุณจะได้กินเนื้ออย่างจุใจโดยฝีมือเชฟแพม รวมถึงคนที่เคยติดใจฝีมือการทำอาหารของเธอมาก่อน ครั้งนี้ก็จะได้ลิ้มลองลูกเล่นต่างๆ ที่เธอนำมาใช้ในเมนูจานเนื้อ ที่นำเสนอออกมาทั้งหมด 10 จาน (อีก 2 จานเป็นขนมหวาน)
เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม
ครัวเปิดในบ้าน
The Dishes
สำหรับโอมากาเสะเนื้อของเชฟแพม เธอได้ใช้เนื้อจากแหล่งกำเนิดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสานของไทย สายพันธุ์จากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงเนื้อวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่คนไทยชื่นชอบ หลายจานอาศัยเทคนิคการสโมก (Smoke) หรือการรมควันเนื้อเข้ากับไม้ลิ้นจี่และไม้มะขาม (ก่อนหน้านี้เชฟได้ทำเนื้อรมควัน Smoked ขายแบบเดลิเวอรี https://thestandard.co/smoked-secret-stake-recipe-of-chef-pam/) ส่วนเนื้อที่เธอหยิบมาใช้เป็นส่วนที่ได้รับความนิยมในหมู่นักกิน เช่น สันใน ริบอาย เนื้อส่วนไหล่ หรือ Flat Iron ฯลฯ แต่ก็มีบางจานที่เซอร์ไพรส์ด้วยการใช้เครื่องในอย่างหัวใจและลิ้นวัว
- Beef Tallow Bread and Broth
เริ่มจานแรกด้วยบริยอช (Brioche) หรือขนมปังชุ่มเนยของฝรั่งเศส ที่เชฟเปลี่ยนจากการใส่เนยเป็นน้ำมันที่ได้จากการนำเนื้อไปรมควันกับไม้ลิ้นจี่และไม้มะขาม จานนี้จึงไม่เสิร์ฟพร้อมเนย เพื่อให้น้ำมันจากเนื้อได้ทำงานอย่างเต็มที่ ก่อนโรยหน้าด้วยพริกไทยกำปอตแดง (Red Kampot Pepper) ยกมาพร้อมซุปใสเนื้อที่ใช้เวลาตุ๋นนานกว่า 24 ชั่วโมงจนได้รสเนื้อที่เข้มข้นแต่ไม่มันเลี่ยน
- Kobe Tartare and Caviar
ต่อด้วยทาทาร์ซึ่งเป็นเนื้อดิบ เชฟใช้เนื้อโกเบส่วนสันในที่มีความนุ่มเป็นพิเศษมาสับให้ละเอียด เพิ่มรสชาติด้วยการเสิร์ฟมาในโคนปรุงรสซีอิ๊ว และปิดท้ายด้วยรสเค็มๆ มันๆ จากไข่ปลาคาเวียร์ด้านบน จานนี้เชฟแนะนำว่าควรกินให้หมดในสองคำ
- Beef Heart, Beef Jam on Toast
มาถึงจานที่สร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยการใช้หัวใจวัวคู่กับขนมปังซาวร์โด (Sourdough) ส่วนความหวานได้มาจากน้ำผึ้ง และแทนที่จะใช้เบคอนเหมือนปกติทั่วไป เชฟเลือกใช้หัวใจวัวของไทยที่นำมาย่างถ่าน จนได้ความสุกระดับมีเดียม ทำให้ไม่แข็งกระด้าง ก่อนตัดเลี่ยนด้วยแตงกวาดองที่อยู่ด้านบน ด้วยหน้าตาและรสชาติ ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ว่ามันคือหัวใจวัว
- Charcoal Crust Wagyu Flat, Black Garlic
จานนี้เสิร์ฟมาในสไตล์สเต๊กเนื้อ เชฟใช้เนื้อวากิวของออสเตรเลียส่วนหัวไหล่ (Flat Iron) ที่มีไขมันแทรกค่อนข้างเยอะ เนื้อส่วนนี้นักเลงเนื้อจะชอบกันมาก เพราะไม่เหนียว ออกไปทางนุ่มหอม (จะเป็นรองความนุ่มก็แค่สันใน) และมีรสเนื้อที่ชัดเจน เชฟแพมนำเนื้อมาคลุกกับผงชาร์โคล ก่อนนำไปย่างด้วยเนย ส่วนซอสสีดำที่เห็นในจาน ได้แก่ พูเรกระเทียมดำ (Black Garlic Puree) ที่มีความหวานโดยธรรมชาติ
- 48-hrs Wagyu Beef Tongue
ถัดไปเป็นอีกจานที่น่าสนใจ นั่นคือ ลิ้นวัววากิว ที่ได้มาจากฟาร์มในโคราช ความพิเศษคือ เชฟจะใช้ส่วนโคนลิ้นที่ทั้งหนาและมีมันแทรกสูง ในวัวหนึ่งตัวจึงมีลิ้นส่วนนี้อยู่ไม่มาก ก่อนนำไปซูวีด์นาน 48 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ระดับความสุกที่ยังคงแดงอยู่ด้านใน ก่อนนำมาย่างเพื่อเรียกความหอม กินคู่กับซอสยูซุ ที่ทั้งรสชาติและหน้าตาคล้ายพริกน้ำส้ม เพราะมีความเผ็ดจางๆ เสริมความเด้งและมันของลิ้นได้ดี
- Matsusaka
มาถึงเนื้อสัญชาติญี่ปุ่นกันบ้าง เชฟแพมเลือกใช้เนื้อมัตสึซากะส่วนริบอาย หรือซี่โครง นำมาสไลด์ให้บาง จากนั้นนำไปพันฟัวกราส์ โรยเกลือ และเพิ่มรสชาติด้วยซอส Amaretto ที่มีส่วนผสมของเหล้าหวาน มาถึงจานนี้หลายคนก็เริ่มแน่นๆ บ้างแล้ว
- Smoked Beef Ribs, Truffle
ผ่านมาครึ่งทางก็มาถึงเมนูหนักท้องอย่าง ข้าวอบทรัฟเฟิล ที่กินคู่กับเนื้อวากิวไทยส่วนซี่โครงจากจังหวัดสุรินทร์ ที่ผ่านการรมควันด้วยไม้ลิ้นจี่และไม้มะขามนาน 14 ชั่วโมง เพื่อให้เนื้อนุ่มเต็มที่ ก่อนกินต้องขูดทรัฟเฟิลสดโรยหน้าเพิ่มเข้าไป ใครที่ติดว่ากินอาหารแล้วต้องมีข้าว จานนี้น่าจะทำให้คุณฟินได้
- ฮอตด็อกเนื้อ Grass Fed Beef
เข้าสู่สามจานหลักสุดท้าย จานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากฮอตด็อก แต่เปลี่ยนไส้กรอกเป็นเนื้อสันในสายพันธุ์แบล็กแองกัสที่กินหญ้า คาแรกเตอร์ของเนื้อวัวสายพันธุ์นี้คือมีมันแทรกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเนื้อญี่ปุ่น แต่จุดเด่นอยู่ที่รสชาติอันเข้มข้นและหนักแน่น ได้รสเนื้ออย่างเต็มอิ่ม นอกจากนั้นยังขอพลิกแพลงด้วยการเสิร์ฟพร้อมผักดองและซอสพริกขี้หนูที่เชฟลงมือทำเอง ถือเป็นการตัดเลี่ยนได้ดี และเปลี่ยนรสชาติมาจิ้มเนื้อกับซอสเผ็ดๆ ดูบ้าง
- Wagyu Smoked Beef Cheeks
ยังคงอยู่กับเนื้อวากิวจากออสเตรเลีย แต่คราวนี้เชฟแพมนำเสนอ แก้มวัว ที่นำไปรมควันกับไม้ลิ้นจี่และไม้มะขามนาน 6 ชั่วโมงจนแก้มเปื่อยได้ที่ แทบไม่ต้องเคี้ยว นำมาห่อด้วยแป้งตอร์ติญาและผักสด ชวนให้นึกถึงอาหารเม็กซิกันอย่างทาโก้ ก่อนเพิ่มรสชาติด้วยซาวครีมและซอสซัลซ่า เชฟแนะนำว่าก่อนกินจานนี้ อยากให้ดมกลิ่นกันก่อนเพื่อเพิ่มอรรถรส
- 65-days Dried Aged Beef Mantou
ปิดท้ายของคาวในคอร์สด้วย หมั่นโถวเนื้อ ที่เชฟลงมือทำแป้งหมั่นโถวเองแทนขนมปัง ส่วนเนื้อที่ใช้เป็นเนื้อวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นจากแถบฮอกไกโด เลือกส่วนติดมันอย่างริบอายที่ผ่านการดรายเอจ 65 วัน ตัวเนื้อจึงมีความหอมชุ่มมัน ตัดรสด้วยซอสมัสตาร์ดและรสพริกฮาลาพิโน รสชาติไม่เหมือนกินเบอร์เกอร์ เพราะด้วยเท็กซ์เจอร์ของหมั่นโถวที่เหนียวและแน่นกว่าขนมปังเบอร์เกอร์ทั่วไป บวกกับความพิเศษของเนื้ออีก ถือเป็นการจบคอร์สที่ดี
- Pickled Lemon Curd และ 12. Hazelnut Chocolate Mousse Tart
ในคอร์สมีเมนูของหวานสองจาน จานแรกเลมอนเคิร์ด (Lemon Curd) ที่เชฟใช้แม่พิมพ์ที่ได้จากมะระขี้นก เพื่อใส่ตัวเลมอนเคิร์ดและน้ำมะนาวดองของจีน ส่วนแท่งยาวด้านข้างคือเมอแรงก์พริกเกลือ แนะนำว่าเวลากินให้ตักมะระมาจิ้มเมอแรงก์แล้วค่อยกินในคำเดียว ขนมหวานอีกจานเป็นช็อกโกแลตทาร์ตได้รสถั่วเฮเซลนัต ที่ช่วยล้างปากหลังผ่านจานเนื้อมาทั้งหมดกว่า 10 เมนู
จะเห็นว่าโอมากาเสะเนื้อของเชฟมีความหลากหลาย ทั้งสายพันธุ์เนื้อวัวที่เธอเลือกใช้ เทคนิคในการทำอาหาร และการร้อยเรียงอาหารแต่ละจานให้ออกมาคล้ายกับการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพราะมาทั้งฮอตด็อก ทาโก้ หมั่นโถว ฯลฯ ที่ทำให้ตลอด 12 คอร์สไม่น่าเบื่อ เพราะต่างเฝ้ารอว่าเชฟแพมจะยกอะไรออกมาเป็นจานถัดไป และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่อิ่ม เพราะหลายคนที่ร่วมโต๊ะอาหารด้วยกันในค่ำวันนั้นเริ่มแน่นกันตั้งแต่จานที่ 7-8 แล้ว
ใครสนใจสามารถจองผ่านทางเว็บไซต์ของ The Table by Chef Pam ได้ตามปกติ เพียงแต่ให้ระบุว่าอยากกินโอมากาเสะเนื้อ 12 คอร์ส (9,000+ บาท) หรือหากใครกลัวว่าเยอะไป สามารถเลือกเป็น 7 คอร์ส (5,000+ บาท) แทนได้ แต่จะไม่มีจานที่เป็นเนื้อมัตสึซากะ ลิ้นวัว แก้มวัว ฮอตด็อก และขนมมะระขี้นก นอกนั้นมาครบทั้งรสชาติและวัตถุดิบที่เลือกใช้
The Table by Chef Pam
Address: 80 ในซอยสุขุมวิท 33
Budget: 9,000+ บาท สำหรับ 12 คอร์ส ขั้นต่ำ 4-16 คน และ 5,000+ บาท สำหรับ 7 คอร์สขั้นต่ำ 6-16 คน
Contact: 08 1854 5544
เว็บไซต์ https://www.bychefpam.com/the-table
Map:
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
July 17, 2020 at 11:28AM
https://ift.tt/3hcl0zM
เปิดประสบการณ์โอมากาเสะเนื้อ 12 คอร์ส จาก เชฟแพม เน้นสายเนื้อ - thestandard.co
https://ift.tt/2whLr5e
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เปิดประสบการณ์โอมากาเสะเนื้อ 12 คอร์ส จาก เชฟแพม เน้นสายเนื้อ - thestandard.co"
Post a Comment