4 กันยายน 2563 | โดย วิภาวี เธียรลีลา
25
ผลกระทบจากการบริโภค "เนื้อสัตว์" เชื่อมโยงถึงสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรคอุบัติใหม่ รวมถึง "โควิด -19" แต่การห้ามย่อมไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบ "New Normal" จึงเน้นไปที่การหานวัตกรรมเพื่อสร้างทางเลือกที่ดีต่อโลก...ดีต่อใจ
ทางการจีนได้ออกมาตรการห้ามการค้าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘โควิด-19’ มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าการค้าสัตว์ป่าในพื้นที่ตลาดสดเมืองอู่ฮั่นเป็นต้นกำเนิดการแพร่ระบาดของโรคร้ายที่คุกคามผู้คนทั่วโลกอย่างไร้พรมแดนในทุกวันนี้
แต่เชื่อหรือไม่ว่า...ไม่เฉพาะสัตว์ป่าเท่านั้นที่เป็นต้นกำเนิดของเชื้ออุบัติใหม่ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน เนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มอุตสาหกรรมเป็นที่มาของโรคระบาดชนิดร้ายแรงได้เช่นกัน อย่างที่ไข้หวัดนกได้จบชีวิตผู้คนกว่าสองแสนคนทั่วโลกมาแล้ว ใจความสำคัญของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ ‘การบริโภค’ ตราบใดที่ผู้คนยังไม่สามารถลดและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์มาบริโภคพืชผักให้มากขึ้นได้ มนุษยชาติยังคงต้องเผชิญหน้ากับโรคอุบัติใหม่อีกไม่จบสิ้น
แล้วทางออกของเรื่องนี้ คืออะไร? การผลิตหรือเพาะเนื้อสัตว์จากเซลล์ และ การผลิตเนื้อสัตว์จากพืช เป็นทางออกที่กำลังได้รับความสนใจ
ไม่เฉพาะลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอุบัติใหม่เท่านั้น แต่หนทางนี้ยังช่วยลดวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้อีกด้วย เพราะการผลิตเนื้อสัตว์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก
พื้นที่ทางการเกษตรในโลกนี้ร้อยละ 80 ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลูกพืชให้มนุษย์บริโภค แต่ถูกปลูกเพื่อเป็นอาหารให้กับสัตว์ชนิดต่างๆ ในอุตสาหกรรมฟาร์มที่มีปลายทางอยู่ที่การบริโภคมนุษย์ ร้อยละ 90 ของถั่วเหลืองทั้งหมด ร้อยละ 80 ของข้าวโพด และร้อยละ 70 ของธัญพืชทั้งหมดที่ปลูกในสหรัฐอเมริกาถูกใช้ไปกับการเลี้ยงปศุสัตว์
และการเลี้ยงปศุสัตว์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า นอกจากนี้ปศุสัตว์ยังเป็นภาคส่วนที่ใช้น้ำมากที่สุด และปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในภาพรวม
จากการสำรวจยังพบอีกว่า กระบวนการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 30 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลก ในจำนวนนี้กว่าครึ่งมีที่มาจากการผลิตเนื้อสัตว์ ซึ่งการเลี้ยงวัวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด บราซิลเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากยังพอจำกันได้ถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าอะเมซอนครั้งใหญ่ปี 2019 ที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งของไฟป่ามีที่มาจากความพยายามเผาถางพื้นที่เพื่อใช้เป็นฟาร์มปศุสัตว์ เพราะการเลี้ยงวัวใช้พื้นที่มากกว่าการเลี้ยงหมูถึง 15 เท่า
อันที่จริง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่างพยายามให้ข้อมูลและเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ลงได้
การโน้มน้าวให้คนหันมาบริโภคอาหารแบบมังวิรัติหรือ ‘วีแกน’ ที่ไม่ทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลยจึงไม่ใช่ทางออกและสวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง!
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ 70-100 ภายในปี 2050 เนื้อหมูเป็นเนื้อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะที่การผลิตเนื้อจากสัตว์ปีกกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
บรูซ ฟรายด์ริช (Bruce Friedrich) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมบริหาร สถาบันเดอะกู๊ดฟู๊ด หรือจีเอฟไอ องค์กรไม่แสวงผลกำไรระหว่างประเทศที่เน้นส่งเสริมระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเพื่อสุขภาพ โดยใช้การตลาดและเทคโนโลยีอาหารเข้ามาเปลี่ยนระบบการผลิตอาหารให้ห่างไกลจากสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม ด้วยการเปลี่ยนวิถีการผลิตใหม่ ฃ
นวัตกรรมทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตหรือเพาะเนื้อสัตว์จากเซลล์และผลิตเนื้อสัตว์จากพืชที่มีรสชาติอร่อยได้ เป็นการปรับวิถีการบริโภคเนื้อให้ปราศจากสัตว์โดยสิ้นเชิง ความเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา และจากการขยายทีมงานจีเอฟไอไปทั่วโลก ทั้งในประเทศอินเดีย อิสราเอล บราซิล ยุโรปและเอเชียแปซิฟิก
สตาร์ทอัพอย่าง ‘อิมพอสซิเบิ้ล ฟู๊ด’ (Impossible Foods) ‘บียอน มีท’ (Beyond Meat) และอีกหลายบริษัท กำลังทดลองใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมรังสรรค์ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เพาะขึ้นจากเซลล์ซึ่งใช้เวลาผลิตแค่ 6 วัน แทนการเลี้ยงสัตว์เป็นสัปดาห์หรือร่วมเดือนก่อนส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์ รวมไปถึงการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชที่มีโปรตีนและคุณค่าทางอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ มีผิวสัมผัสขณะรับประทาน และมีรสชาติไม่ต่างหรือดีกว่าเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติ ซึ่งหากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้นในอนาคต ราคาผลิตภัณฑ์ย่อมถูกลงตามกลไกตลาด
ที่สำคัญ คือ ปราศจากสารปฏิชีวนะ เนื่องจากในกระบวนการผลิตไม่ต้องฉีดสารเคมีเหล่านี้เข้าไปในร่างกายสัตว์ให้มีความแข็งแรง ทนโรค ทนต่อการอยู่ในพื้นที่แออัด ขณะที่สัตว์สามารถดื้อยาและทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคได้ทุกเมื่อ นี่เป็นที่มาของการเกิดโรคอุบัติใหม่ นอกเหนือจากความรู้ที่ว่าสารปฏิชีวนะเป็นสารพิษตกข้างในร่างกายและส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์
การกินเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็จริง แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ส่งผลต่อโลกอย่างมหาศาล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด -19 ทำให้มนุษย์ประจักษ์กับสายตาและประสบกับตัวเองแล้วว่า ทั้งสองอย่างนี้หากเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างไรกับมวลมนุษยชาติบ้าง
การห้ามให้คนเลิกกินคงไม่ใช่ทางออก แต่นวัตกรรมได้สร้างทางเลือกบางอย่างให้กับการกินวิถีใหม่ที่เป็น new normal อย่างแท้จริง จากการปฏิวัติระบบปศุสัตว์และเกษตรกรรมที่ต้องการความร่วมมือจากมนุษย์ทุกคน
September 04, 2020 at 05:00PM
https://ift.tt/2GkIyoH
'New Normal' มนุษย์กินเนื้อ : วิถีการบริโภคที่ปราศจากสัตว์ - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2whLr5e
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'New Normal' มนุษย์กินเนื้อ : วิถีการบริโภคที่ปราศจากสัตว์ - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment