คนกินหมูร้องจ๊าก เนื้อหมูแพง กก.ละ 170 ยิ่งถ้าเป็นคอหมูสูงถึง กก.ละ 200 พบไทยโชคดีไม่มีโรค ASF ระบาด ความต้องการมีมาก แม้จะขายดีจนหมูโตไม่ทัน แต่พบเกษตรกรขาดทุน ฟาร์มขนาดเล็กเจ๊งเพราะพิษโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี
ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน
ช่วงนี้ใครที่บริโภคเนื้อหมูเป็นประจำคงต้องร้องจ๊ากกันบ้าง เพราะในขณะนี้ราคาเนื้อหมูแพงมาก เช่น ซี่โครงหมู ส่วนที่ติดกระดูกซึ่งนิยมนำไปทำเมนูอบ ต้ม ทำน้ำซุป หรือทอดกระเทียม กิโลกรัมละ 140 บาท
หมูเนื้อแดงที่นำไปปรุงอาหารเมนูทั่วไป กิโลกรัมละ 170 บาท ส่วนคอหมูที่นิยมนำมาทำเป็นเมนูคอหมูทอด หรือคอหมูย่างแกล้มเหล้าเบียร์ ราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาทเลยทีเดียว
สาเหตุสำคัญเป็นเพราะในขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเกิด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือโรค ASF ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วโลก เนื่องจากจนถึงปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค
ความร้ายแรงของโรค ASF เป็นเชื้อที่มีความดื้อด้านสูง สามารถอยู่ในเนื้อหมูได้เป็นเวลานาน และทนความร้อนได้ดี แม้จะถูกแปรรูปเป็นแฮมรมควัน ลูกชิ้น ไส้กรอก กุนเชียง หรือเนื้อหมูที่นำมาทำอาหารแล้ว ก็ยังรอดชีวิตอยู่ได้
ถ้าจะให้เชื้อที่เป็นพาหะของโรค ASF ตาย ต้องปรุงอาหารผ่านความร้อนด้วยอุณหภูมิสูงถึง 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป ถ้าเป็นแบบนี้เมนูจำพวกหมูตุ๋น หมูพะโล้ก็น่าจะเอาอยู่
ที่น่ากลัวก็คือ เชื้อที่เป็นพาหะของโรค ASF สามารถหลุดเข้ามาในประเทศไทยได้ ถ้ามีคนเป็นพาหะ แม้ว่าภาครัฐจะมีการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าหมูแช่แข็งอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม
โชคดีที่กรมปศุสัตว์ของไทยมีมาตรการเข้มงวด ในการนำเข้าสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรทุกชนิด จากประเทศที่มีการระบาด ทำให้ในขณะนี้ ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที่ปลอดโรค ASF
แม้ว่าจะไม่ติดจากคน แต่ก็คงไม่มีใครอยากกินหมูที่ป่วย เพราะฉะนั้น ช่วงนี้อย่าไว้ใจเนื้อหมูราคาถูก หรือหมูแช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะดีไม่ดีอาจเจอแจ็กพอตไปยังคนเลี้ยงหมูทั้งประเทศ
ผู้เลี้ยงหมูรายหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่เนื้อหมูราคาแพง เนื่องจากโรค ASF ทำให้เกิดความต้องการเนื้อหมูจากไทยมีมาก ฟาร์มขนาดใหญ่เน้นไปที่การส่งออกเพราะขายได้ราคาดี จึงทำให้ขายกันเกลี้ยงฟาร์มจนหมูโตไม่ทัน
ส่วนฟาร์มขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเลิกกิจการ เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จำนวนหมูในประเทศเลยมีน้อยลง สวนทางกับความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ภาครัฐมีมาตรการคลายล็อก ทำให้มีครอบครัวและกลุ่มเพื่อนออกมาสังสรรค์กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะเมนูหมูกระทะต่างๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในขณะนี้เนื้อหมูมีราคาแพงขึ้น
ปัจจุบันในจังหวัดชลบุรีมีประชุมสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ จัดซุ้มขายเนื้อหมูกิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยจัดหาจากฟาร์มของสมาชิกมาจำหน่าย มีเถ้าแก่และชาวบ้านมารอซื้อเนื้อหมูอย่างคึกคัก
อีกด้านหนึ่ง นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และห้างค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อหามาตรการดูแลราคาเนื้อหมู โดยได้มีข้อตกลงว่า จะจำหน่ายสุกรมีชีวิต กิโลกรัมละไม่เกิน 80 บาท
ถ้าไม่ได้ผลจะจำกัดการส่งออกไม่ให้เกินวันละ 5,000 ตัว จากที่ตอนนี้ส่งออกวันละ 10,000 ตัว และถ้ายังไม่คลี่คลาย จะใช้มาตรการรุนแรงสุด คือ “ระงับการส่งออกชั่วคราว” จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
โดยในวันนี้ (22 ก.ค.) กรมการค้าภายในได้ร่วมมือกับผู้ผลิต นำหมูชำแหละมาจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด โดยเริ่มที่ห้างแม็คโคร ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อหมูราคาถูก
ส่วนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จะจัดกิจกรรม “เนื้อหมูสู้โควิด” จำหน่ายหมูสดถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ในราคากิโลกรัมละ 130 บาท พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 7 ส.ค.นี้
แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าปลอดโรค ASF ก็ตาม แต่ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 3 ปี เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น และต้องทำตามมาตรฐานป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด
ราคาหมูแพงในวันนี้จึงน่าคิดว่า อาจเป็นเพียง “ปัญหาที่เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่มองเห็นได้เท่านั้น
July 22, 2020 at 09:29AM
https://ift.tt/3hmjP0z
ทำไมหมูแพง? ไทยโชคดีไม่มีโรค ASF ขายดีแทบไม่ทัน แต่ฟาร์มเล็กเจ๊งตั้งแต่ต้นปี - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/2whLr5e
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ทำไมหมูแพง? ไทยโชคดีไม่มีโรค ASF ขายดีแทบไม่ทัน แต่ฟาร์มเล็กเจ๊งตั้งแต่ต้นปี - ผู้จัดการออนไลน์"
Post a Comment